ฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ผศ.พญ.ธนิตา สุทธิชัยมงคล

สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฝีในตับเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทำให้เกิดเป็นหนองในเนื้อตับ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ฝีในตับแบ่งตามเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ที่พบบ่อยคือเชื้อแบคทีเรีย (pyogenic liver abscess) และเชื้ออะมีบา (amoebic liver abscess) จากการศึกษารวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคผีในตับที่มานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างปีพ.ศ. 2551-2556 จากฐานข้อมูลประเทศไทย พบผู้ป่วยทั้งหมด 8,423 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมากถึงร้อยละ 95 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วย 52 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 66 และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลร้อยละ 2.8 เมื่อแยกตามภูมิภาคพบว่าฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้ออะมีบาพบมากในภาคใต้และภาคตะวันตก ในขณะที่ฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบได้ทั่วประเทศ แต่พบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 40) เมื่อดูตามช่วงเวลาพบว่าฝีในตับพบมากในฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน1 

เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้ป่วยฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุมากที่สุดคือ Burkholderia pseudomallei (ร้อยละ 56.5) ตามมาด้วย Klebsiella pneumonia (ร้อยละ 22.2) Escherichia coli (ร้อยละ 10) Staphylococcus spp. (ร้อยละ 4.1) Pseudomonas aeruginosa (ร้อยละ2.5) และ Salmonella spp. (ร้อยละ 2.3)1 ซึ่งทางที่เชื้อเหล่านี้จะเข้าไปที่ตับมาได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางท่อน้ำดี กระแสเลือด เส้นเลือดดำพอร์ทัล อวัยวะข้างเคียงที่มีการติดเชื้อ ทะลุเข้าสู่ตับโดยตรง หรือ ไม่ทราบสาเหตุ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเป็นฝีในตับคือ โรคเบาหวาน ตับแข็ง อายุมาก เพศชาย ภูมิต้านทานบกพร่อง การใช้ยาลดกรด ผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือ มีโรคเกี่ยวกับท่อน้ำดีอื่น ๆ2

การวินิจฉัยโรคฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียใช้อาการ อาการแสดง การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ การเพาะเชื้อ และการตรวจทางรังสีวิทยาประกอบกัน โดยผู้ป่วยมักมาด้วยอาการอ่อนเพลีย มีไข้ (อาจมีหนาวสั่นหรือไม่ก็ได้) ปวดแน่นท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเหลว ตรวจร่างกายอาจพบตาเหลืองหากมีสาเหตุจากท่อน้ำดีอุดตันร่วมด้วย ตับโต กดเจ็บบริเวณตับ หากเป็นมากอาจมีความดันโลหิตต่ำ หรือ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนคือมีน้ำในเยื่อหุ้มปอดด้านขวา ทำให้มีอาการหายใจลำบากหรือเจ็บชายปอดขวาเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ได้ เมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์มักพบเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เลือดจาง ค่าการทำงานของตับผิดปกติ ได้แก่อัลบูมินต่ำ โกลบูลินสูง ค่าเอนไซม์ตับ (ALT AST และ ALP) สูงขึ้นได้ การเพาะเชื้อในกระแสเลือดอาจพบเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคประมาณร้อยละ 50 ส่วนการตรวจทางรังสีวิทยาเป็นสิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคมากที่สุด โดยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงช่องท้องส่วนบนและการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนบนจะพบความผิดปกติได้2

หลักการรักษาโรคฝีในตับที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียประกอบด้วย 2 อย่างเป็นหลักคือ การให้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสมให้ตรงกับเชื้อ และ ถ้าหากฝีมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสแตกก็จำเป็นต้องรักษาโดยการเจาะระบายหนองร่วมด้วย โดยระยะเวลาการให้ยาปฏิชีวนะขึ้นกับขนาดของฝี ในช่วงแรกจะเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ หากอาการดีขึ้นก็เปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานต่อ โดยให้จนกว่าฝีจะหายไป ดูจากการตรวจทางรังสีวิทยา

รูปภาพ

ถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนบนของผู้ป่วยชายอายุ 66 ปี ที่เป็นฝีในตับจากเชื้อ Klebsiella pneumonia โดยผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน มาด้วยอาการไข้สูง ปวดแน่นท้องใต้ชายโครงขวา ตรวจร่างกายพบตับโต ผลเลือดค่าการทำงานของตับผิดปกติ จึงได้ตรวจทางรังสีวิทยาพบผิดปกติดังภาพ 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Poovorawan K, Pan-Ngum W, Soonthornworasiri N, Kulrat C, Kittitrakul C, Wilairatana P, et al. Burden of liver abscess and survival risk score in Thailand: A population-based study. Am J Trop Med Hyg 2016;95:683–8.
  2. Mavilia MG, Molina M, Wu GY. The Evolving Nature of Hepatic Abscess: A Review. J Clin Transl Hepatol 2016;4:158–68.

 



Tags: Miscellaneous
Share This: