เหตุการณ์สำคัญวาระปี 2560-2561 รศ.พญ. วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ

สวัสดีค่ะดิฉัน รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยคนที่ 6 ขอนำเสนอประวัติสมาคมโรคตับ ฯ และ ผลงาน ในโอกาสที่ได้รับเกียรติเป็นนายกสมาคมโรคตับ ฯ ในวาระปี พ.ศ. 2560 – 2561 ดังนี้

  1. Multi Centre Research
    สมาคมโรคตับ ฯ มีงานวิจัย แบบ Multi Centre อย่างต่อเนื่องจนถึงนายกสมาคมคนปัจจุบัน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.พญ. อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย  เรื่อง โครงการทะเบียนข้อมูลผู้ป่วยด้วยปัญหาตับที่เกิดจากยาและการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโรค (Drug-induced liver injury registry and the study of factors associated with its clinical course) โดยเป็นโครงการวิจัยแบบ Multi Centre  จำนวน 11 สถาบัน ได้แก่ 1. โรงพยาบาลรามาธิบดี     2. โรงพยาบาลศิริราช 3. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 4. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ 5. โรงพยาบาลราชวิถี 6. โรงพยาบาลภูมิพล 7. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 8. โรงพยาบาลศรีนครินทร์  9. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 10. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน 11. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานโครงการวิจัยดังกล่าว 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2566) มีจำนวนอาสาสมัครประมาณ 1,000 คน  โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยด้านโรคตับ แบบ Multi Centre โครงการแรกของประเทศไทย  สร้างความภาคภูมิใจให้กับดิฉัน และ สมาคมโรคตับ ฯ อย่างยิ่ง 
  2. Thai Journal of Hepatology
    สมาคมโรคตับ ฯ มีวารสารเกี่ยวกับโรคตับชื่อ Thai Journal of Hepatology ในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 4 ฉบับ  ระหว่างเดือน ต.ค. ปี พ.ศ. 2561 ถึง มี.ค. ปี พ.ศ. 2562  ซึ่ง การจัดทำวารสารแบบออนไลน์     ในครั้งนี้ ได้รับความรู้ และ ความเมตตาอนุเคราะห์ จาก ศ.นพ.ดร. ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ดิฉันขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้  ที่ทำความฝันของเราให้เป็นจริง 
  3. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561
    สมาคมโรคตับ ฯ ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในประเทศไทย ปี   พ.ศ. 2561 โดยในระยะเริ่มแรกยังไม่มีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ต่อมาได้มีการเริ่มตรวจ       คัดกรองของไวรัสตับอักเสบบี และ ซีในวันตับอักเสบโลกร่วมกระทรวงสาธารณสุขซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามใน MOU ไว้ กับองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2559  เรื่องการกำจัดไวรัสตับ อักเสบ บี และ ซีให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เริ่มมีกิจกรรมตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้กับประชาชนทั่วไปฟรี ในวันตับอักเสบโลกของทุก ๆ ปี โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมโรคตับ ฯ 
  4. ผลักดันให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซีได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม DAA
    สมาคมโรคตับ ฯ มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องในการผลักดันยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซีเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ   จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้อนุมัติให้ ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในกลุ่มยา DAA ได้แก่ Sofosbuvir -Peginterferon – Ribavirin   หรือ  Sofosbuvir – Ledipasvir  เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ    นับได้ว่าเป็นผลงานของสมาคมโรคตับ ฯ ที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่ง  นอกเหนือจากนั้นกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ ร่วมกับ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การตรวจคัดกรอง  การตรวจวินิจฉัย  การรักษา  นโยบายนี้สำเร็จในปีที่ดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นนายก ฯ เช่นกัน
  5. เข้าร่วมการประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APASL 2020 และ 2021
    สมาคมโรคตับ ฯ นำโดย รศ.นพ. ทวีศักดิ์ แทนวันดี ในฐานะประธานคณะกรรมการประมูลสิทธิ์ ฯ ได้เข้าร่วมการประมูลสิทธิ์ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APASL ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคณะกรรมการ ฯ และ สมาชิกสมาคมโรคตับ ฯ ได้ร่วมเดินทางไปประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APASL 2020 ภายในงานประชุม APASL 2017  ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน       ผลการประมูลสิทธิ์คือประเทศอินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าภาพงานประชุม APASL 2020   สมาคมโรคตับ ฯ มีความพยายามอย่างต่อเนื่องและเข้าร่วมการประมูลสิทธิ์เป็นครั้งที่ 2 ภายในงานประชุม APASL 2018 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย  โดยในครั้งนี้สมาคมโรคตับ ฯ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุม APASL 2021 ในประเทศไทย 
  6. ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่ไม่ควรแอลกอฮอล์
    สมาคมโรคตับ ฯ ได้ส่งคำแนะนำด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่ไม่ควรแอลกอฮอล์ ถึงราชวิทยาลัยอายุรแพทย์  ฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอคำแนะนำผ่านมาทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์  ฯ เพื่อให้คำแนะนำดังกล่าวสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานของการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรค และ อันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง (Vulnerable groups) และประชาชนทั่วไป

สุดท้ายนี้ขออวยพรให้สมาชิกสมาคมโรคตับ ฯ ทุกๆท่าน  นายกสมาคมโรคตับ ฯ ท่านก่อนหน้าดิฉัน และ ท่านต่อๆ ไป มีความสุขความเจริญประสบความสำเร็จทั้งครอบครัว ส่วนตัว และ ประเทศชาติ มีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และ สามารถเป็นที่พึ่งของแพทย์  ด้านโรคตับฯ รุ่นต่อๆ ไปได้ตลอดไปค่ะ  ขอบคุณค่ะ

Share This: