เหตุการณ์สำคัญวาระปี 2554-2555 รศ.นพ. ธีระ พิรัชวิสุทธิ์

ในช่วงปี พ.ศ. 2535 – 2536 ผมนายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ เป็นอาจารย์แพทย์ ที่หน่วยทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านโรคตับ ที่ King's College London มี Prof. Roger Stanley Williams อยู่เป็นสถาบันโรคตับที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของโลก และในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น อาจารย์อนุชิต จูฑะพุทธิ ก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อโรคตับ ที่ Yale University และในปีถัดไป  อาจารย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี ก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อโรคตับ ที่ Baylor College of Medicine  เราทั้ง 3 คน สำเร็จการศึกษา และกลับมาประเทศไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน ในขณะนั้นจะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคตับในประเทศไทยอยู่แล้วคือ อาจารย์ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ และ อาจารย์ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล ดังนั้นอาจารย์เติมไชย ไชยนุวัติ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ จึงมีดำริขึ้นว่าเราควรจะรวบรวมแพทย์ผู้สนใจศึกษาด้านโรคตับมาตั้งคณะทำงานด้วยกัน แล้วจะได้ช่วยกันพัฒนาได้ในหลายเรื่องเช่น  1. ด้านการแพทย์คือมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแพทย์ ทางด้านโรคตับ 2. ร่วมกันทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคตับ 3. เป็นสื่อกลางหรือองค์กรในการติดต่อกับต่างประเทศ เพื่อให้ต่างประเทศรู้จักประเทศไทยว่ามีกลุ่มแพทย์ด้านโรคตับที่มีความรู้ความชำนาญ และ ความสามารถเทียบเท่ากับนานาประเทศได้โดยเริ่มต้นในประเทศภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจโรคตับเพื่อประชาชนด้วย เมื่อเราได้ประชุมกันเรียบร้อย จึงจัดตั้งเป็นชมรมโรคตับแห่งประเทศไทย ขึ้นโดยสมาชิกกลุ่มคือแพทย์ผู้มีความสนใจในด้าน    โรคตับเช่นกัน โดยมีอาจารย์ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล เป็นประธานคนแรกของชมรมโรคตับ อาจารย์ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ เป็นรองประธาน ผม อาจารย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ เป็นเลขาธิการ และ คณะกรรมการ ได้แก่ อาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์วโรชา มหาชัย อาจารย์อนุชิต  จูฑะพุทธิ และ อาจารย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี  มาทำงานร่วมกัน ประจวบกับช่วงที่ชมรมโรคตับเริ่มเกิดขึ้น เป็นช่วงที่ยาใหม่ ๆ ที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี โดยเฉพาะ Interferon เริ่มมีการรักษาที่พัฒนาไปในทางที่ดี ซึ่งผลการรักษาดีกว่าสมัยก่อนที่ไม่มีการรักษา จึงมีบริษัทยาใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้นมากพอสมควร เกิดการประสานงานร่วมกับชมรม ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และสนับสนุนชมรมในกิจกรรมทางวิชาการ ทำให้เกิดผลสำเร็จในการทำงานของชมรมโรคตับไปได้ด้วยดี และ มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับและได้ความนิยมจากแพทย์ในประเทศไทย ตรงตามวัตถุประสงค์ที่อาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ ได้ดำริไว้ มีการจัดประชุมวิชา มีการอบรมให้กับแพทย์ทั่วไป   แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ  มีกิจกรรมความรู้เพื่อประชาชน และ มีการทำงานวิจัยร่วมกัน 

ในปี พ.ศ. 2546 คณะกรรการชมรมโรคตับมีความคิดว่าถึงเวลาพร้อมที่จะเติบโตไปอีกขั้น  น่าจะแยกออกมาเป็นสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยซึ่งตอนนั้นองค์กรแม่ของชมรมคือสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย  จึงเสนอเรื่องพิจารณาขอตั้งเป็น สมาคมโรคตับ มีการทักท้วงว่ายังไม่อยากให้เราแตกไปจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ อยากให้เป็นกลุ่มแพทย์ระบบทางเดินอาหาร  เห็นด้วยที่มีการรวมตัวกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้สนใจด้านโรคตับ และ ทำงานวิชาการโรคตับร่วมกัน แต่ไม่เห็นด้วยในการขอแยกเป็นสมาคม จากมติที่ประชุมครั้งนั้น จึงได้จัดตั้งเป็นชมรมไปก่อน โดยอยู่ในความดูแลของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยเช่นเดิม ชมรมโรคตับได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องจนเกิด          องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคตับมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้เราเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งในสมัยแรก ๆ ยังอยู่ภายใต้การนำ การให้คำแนะนำ และ ดูแลจากอาจารย์เติมชัย  ไชยนุวัติ  จนนับได้ว่า อาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ เป็น Founderที่สำคัญอย่างแท้จริง กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2549 ก็คิดว่าเราก็ได้ทำงานมาจนถึงจุดหนึ่งที่จะแยกเป็นสมาคมได้แล้ว เราพยายามแสดงให้สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ เห็นว่าการที่เราแยกออกมาก็เพื่อให้เกิดเป็นองค์กรขึ้นในประเทศไทย ที่จะช่วยติดต่อไปยังต่างประเทศให้รู้ว่าในประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน     โรคตับที่มีฝีมือ มีความรู้ทางการดูแลรักษา การวิจัย ในด้านโรคตับ และ เพื่อให้มีองค์กรที่สามารถสื่อสาร        ไปถึงระดับนานาประเทศได้  จึงพยายามแสดงให้สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารเห็นว่าเราไม่ได้แยกตัว    เรายังคงทำงานประสานกันเพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคตับให้ดีมากยิ่งขึ้น ในเวลาต่อมาเริ่มมีอาจารย์แพทย์ทางด้านระบบทางเดินอาหารที่สนใจด้านโรคตับเข้าร่วมในชมรม เพิ่มอีก เช่น อาจารย์วัฒนา สุขีไพศาลเจริญอาจารย์ศตวรรษ ทองสวัสดิ์ อาจารย์ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ อาจารย์อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข อาจารย์พูลชัย  จรัสเจริญวิทยา อาจารย์สมบัติ ตรีประเสริฐสุข เป็นต้น ประกอบด้วย ในขณะนั้น อาจารย์ศิวะพร ไชยนุวัติ         กำลังศึกษาต่อด้านโรคตับอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  เราเริ่มเห็นว่ากลุ่มที่เรียนด้านโรคตับมีมากขึ้นแล้ว จึงขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมโรคตับ(ประเทศไทย) ซึ่งได้รับความยินยอมและเห็นชอบจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ  จึงได้จัดตั้งเป็นสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยมีนายกสมาคมโรคตับ ฯ คนแรก คือ อาจารย์ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ ซึ่งในปีถัดมา พ.ศ. 2550 เป็นปีที่อาจารย์ชุติมา ประมูลสินทรัพย์  ดำรงตำแหน่งเป็นนายกของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยด้วย อาจารย์ชุติมา จึงเป็นท่านเดียวที่ดำรงตำแหน่ง นายกของทั้งสองสมาคมในเวลาเดียวกัน  คือนายกสมาคม    โรคตับ (ประเทศไทย) และ นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ยิ่งเป็นจุดเป้าหมายสำคัญในการเริ่มต้นอย่างชัดเจนว่า  เรายังมีการทำงานที่ประสานกันอยู่   ไม่ได้แยกจากกัน และ มีนายกคนเดียวกัน ยังทำงานที่สอดคล้องกันและเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน ในที่สุดทำให้เกิดเป็นสมาคมโรคตับ(ประเทศไทย) ขึ้นโดยที่ได้อาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการ ขึ้นทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ มีกฎระเบียบ ข้อบังคับ คณะกรรมการ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ ในที่สุดก็เกิดการแก้ไขข้อบังคับสมาคมโรคตับ(ประเทศไทย) ครั้งที่ 1 แล้วเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา ได้แก่ข้อบังคับสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) ฉบับปี พ.ศ. 2551  นายกสมาคมโรคตับฯ คนที่สองคืออาจารย์อนุชิต จูฑะพุทธิ ซึ่งในสมัยที่ อาจารย์อนุชิต จูฑะพุทธิ เป็นช่วงที่สมาคมโรคตับฯ มีการ bid การประชุม The Asian Pacific Association for the Study of the Liver (APASL 2011) อาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ ให้คำแนะนำว่าสมาคมฯ ของเราเติบโตและเข็มแข็งพอสมควรแล้ว มีแพทย์ด้านโรคตับมารวมตัวกันมากขึ้นแล้ว ทุกท่านเป็นแพทย์ด้านโรคตับที่ตั้งใจทำงาน ดังนั้นเราควรไป bid งานประชุม APASL  ให้มาจัดที่ประเทศไทยให้ได้ จึงตั้งเป้าหมายในการ bid งานประชุม APASL 2011 เนื่องจากเราเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APASL ไปแล้วก่อนหน้านี้ สมัยที่อาจารย์ วีกิจ วีรานุวัตติ์ เป็น President เมื่อประมาณ 27 ปีก่อน ในขณะนั้นได้มีอาจารย์ ชินวัตร์  สุทธิวนา เข้ามาร่วมทำงานด้วยอีก 1 ท่าน ทีมเราไป bid เพื่อขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุม APASL 2011 ที่งานประชุม APASL 2007 ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เติมชัย ไชยนุวัติ อาจารย์อนุชิต จูฑะพุทธิ และ อาจารย์ทุกท่าน ที่วางใจให้ผมเป็น President ของการจัดงาน APASL2011 และนำคณะกรรมการฯ ไป bid งานประชุม APASL 2011 ทางสมาคมโรคตับฯ ได้นำเรื่อง bid งานประชุมดังกล่าว ไปเสนอต่อ TCEB (Thailand Convention & Exhibition Bureau) ทาง TCEB มาช่วยเราในการ bid ด้วย การ bid ในครั้งนั้น แข่งกันหลายประเทศมาก เช่น จีน และ ฮ่องกง เราก็แสดงศักยภาพให้คณะกรรมการจากนานาประเทศเห็นว่าสมาคมโรคตับฯ มีความมั่นคงที่พร้อมจะจัดงาน APASL ได้แล้ว และ มีการช่วยเหลือสนับสนุนจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยอีกด้วย ท้ายสุด APASL steering commitee ก็ตัดสินให้ประเทศไทยชนะ การ bid โดยปี 2010 ให้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นเจ้าภาพ และ  ปี 2011 ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นเราก็กลับมาเตรียมงาน และหาสถานที่จัดงานโดยในตอนแรก จะไปจัด ที่ Pattaya Exhibition and Convention Hall หรือ PEACH Center แต่ติดขัดในหลายด้าน จึงมาจัดงาน APASL 2011 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  กรุงเทพมหานคร

ในครั้งนั้น อาจารย์และกรรมการสมาคมโรคตับทุกท่าน และ กรรมการสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ได้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ เช่น อาจารย์สมชาย  ลีลากุศลวงศ์ มาช่วยเป็นประธานฝ่ายพิธีการ อาจารย์ ม.ล. ทยา กิติยากร ซึ่งพึ่งกลับมาจากต่างประเทศอังกฤษใหม่ๆ มาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี มาช่วยงานเป็นพิธีกรในงานประชุมครั้งนั้นด้วย ผมจำได้ว่าวันที่เราไปรับธง APASL ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กรรมการสมาคมโรคตับฯ และแพทย์คนไทยรวมตัวกันหลายคนมากรวมถึงน้องๆ ที่เป็นสมาชิก ตอนนั้นเราทำเสื้อขึ้นมาตัวหนึ่งโดยมีอาจารย์ ม.ล. ทยา  กิติยากร ช่วยขัดเกลาข้อความภาษาอังกฤษต่างๆ  จนได้ theme งานประชุม APASL 2011 ว่า Enlightening the Future  เราจึงทำเสื้อพื้นดำรูปตับสีเขียวสะท้อนแสง มีข้อความ Enlightening the Future ตอนกลางคืนรูปตับ และ โลโก้งานประชุมมีสีที่เรืองแสงขึ้นมาได้ เราใส่เสื้อที่จัดทำขึ้นพิเศษในวาระนั้น ไปในงานประชุมที่กรุงปักกิ่ง เป็นวันสุดท้ายของงานประชุม ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นเจ้าภาพงานประชุม APASL ครั้งถัดไปส่งผู้แทนคือ ผมร่วมกับคณะกรรมการจัดงานประชุม APASL 2011 บางส่วน ขึ้นไปรับธง APASL บนเวที วันนั้นคนไทยรวมใจกันใส่เสื้อที่เราเตรียมไว้มาร่วมประชุมวันสุดท้ายกันมากมาย เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมาก ทำให้นานาประเทศรับรู้ว่าประเทศไทยมีความสามัคคีพร้อมเพรียงที่จะจัดงาน APASL 2011 อย่างแข็งขัน 

จากนั้นเรามีเวลา 1 ปีในการเตรียมงานนี้  ผมมีความสุขมากเพราะไม่ใช่ผมเก่ง แต่ผมเห็นทุก ๆ คนเอ็นดู และ ให้การสนับสนุนผม เห็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ สละเวลา และ ร่วมทำงานทั้งระดมสมอง ระดมกำลัง ช่วยกันทำงานในแผนกต่าง ๆ โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ทุกคนสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น ถึงวันจัดงานประชุม APASL 2011 ภายใต้ หัวข้อ Enlightening the Future ซึ่งมีวิทยากรจากต่างประเทศประมาณ 200 คน ผลการประเมินการจัดงานพบว่าทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุม ชื่นชมและประทับใจมากนับว่าเราได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เราสามารถทำลายสถิติ ของ APASL ที่จัดงานประชุมวิชาการมา 20 กว่าปี  เราสามารถมี abstract summission ในงานประชุมครังนี้จำนวนมากถึง 1,698 ผลงาน ซึ่งมากที่สุดเป็นสามอันดับแรก  และ อยู่ใน record จนถึงทุกวันนี้มาตลอดเกือบ 20 ปี เวลาไปร่วมงานประชุมที่ใด Prof. Omata จะกล่าวถึงตลอดว่างานประชุม APASL 2011 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็น high record ย้อนหลังไป 10-20 ปี นอกจากนั้นผู้เข้าลงทะเบียนมีมากถึง 4,062 คนซึ่งติดอันดับ 2 หรือ 3 มาตลอด เรามี record ที่น้อยกว่าเพียงประเทศเดียวคือ ประเทศจีน  เนื่องจากผู้ลงทะเบียนจากจีนประเทศเดียวก็มีจำนวนประมาณ 4 พันคนแล้ว งานประชุมครั้งนั้นประสบความสำเร็จ  ลุล่วงไปได้ด้วยดีในทุกด้าน       ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ผมจำได้ว่ามีแพทย์ท่านหนึ่ง จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้จัดงานประชุมที่ใหญ่มากคือ AASLD (American Association for the Study of Liver Diseases) ได้กล่าวว่างาน APASL 2011 จัดได้ยิ่งใหญ่มาก ราวกับเป็น Eastern AASLD  ในการจัด APASL 2011 เราได้สร้างความร่วมมือกับ EASL และ AASLD มีบางรายการซึ่งเป็นการผสมผสานของทั้ง 3 สมาคมโลกที่สำคัญของโรคตับ

ในหัวข้อเรื่องทางวิชาการ ต้องให้เครดิต อาจารย์อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข ที่ทำได้ดีมาก เราจัด Faculty dinner ที่โรงแรม Four Seasons ในสมัยนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างชาติที่มาร่วมในงานต่างชื่นชมกันมาก   ผมจำได้ตอนนั้นเราเชิญ คุณนนทิยา จิวบางป่า มาเป็นคนร้องเพลงและ มีพิธีกรก็เป็นนางสาวไทยในสมัยนั้นก็คือ คุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ชาวต่างชาติชื่นชมว่าบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานมาก ผู้เข้าร่วมประชุมชาวญี่ปุ่นขึ้นมาร้องเพลง Subaru ในส่วนของการแสดงก็มาจากเชียงใหม่ ได้รับคำชื่นชมว่าการแสดงดีมากเช่นกัน ช่วงเวลาก่อนงานจะเลิก ผู้เข้าร่วมงานลุกมาออกมาเต้น มีวิทยากรชาวฝรั่งเศสได้ออกมาเต้นรำด้วย เป็นงานเลี้ยงที่สนุกสนานที่สุดเท่าที่เข้าร่วมมา เนื่องจากหลายที่ที่เคยไปค่อนข้างจัดงานแบบเป็นทางการ          เราสร้างบรรยากาศให้เป็นแบบเพื่อนฝูงจริงๆ พิธีเปิดก็ยิ่งใหญ่มาก มีนางรำมากกว่า 60 คนnจากคณะ         การแสดงของเชียงใหม่ มีการตีฆ้อง ตีกลองสะบัดชัย และ กิจกรรมการแสดงมากมายในช่วงพิธีเปิด ทุกคนที่ได้เข้าร่วมตื่นเต้นกับพิธีเปิดมากจนทำให้แพทย์ชาวไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่จะจัดงานประชุม APASL ในปีถัดไปบ่นกลุ้มใจมากว่าจะจัดพิธีเปิดอย่างไรให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับประเทศไทย งานเลี้ยง gala dinner เราจัดที่       ราชนาวีสโมสร จำลองบรรยากาศลอยกระทงขึ้นมา มีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานไปลอยกระทงด้วยกัน       

งาน APASL 2011 จึงเป็นความทรงจำที่ประสบความสำเร็จมากมาย นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นได้กำไรจากการจัดงานประชุม ประมาณ 44 ล้านบาท กลับเข้าสู่สมาคมโรคตับฯ จากนั้นคณะกรรมการ ฯ ประชุมกัน และ มีมติให้นำเงินมาพัฒนาสมาคมให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียง สร้างเครือข่าย และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและแพทย์ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่มี      การตั้งกองทุนวิจัยจำนวนเงิน 5 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนสำหรับแพทย์ที่สนใจในการทำวิจัยด้านโรคตับ ในประเทศไทย และ ก็มีกฎระเบียบการขอทุนวิจัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ เงินผลกำไรจากการจัดงาน APASL 2011 ส่วนที่เหลือนำมาพัฒนาสมาคมโรคตับฯ ในด้านต่าง ๆ เริ่มมีการจัดหาสำนักงานประจำ โดยสำนักงานแห่งแรกอยู่ที่อาคารซิโน - ไทยทาวเวอร์ จากนั้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ใด้แจ้งย้ายสำนักงานมาอยู่ที่สำนักงานปัจจุบัน ณ อาคารชัยสงวน ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มาถึงตอนนี้เราได้ร่วมงานกันมาตลอด  พัฒนาให้สมาคมเติบโตขึ้น มีอาจารย์ใหม่ ๆ ที่สนใจด้านโรคตับเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นอีก เช่น อาจารย์วัชรศักดิ์ โชติยะปุตตะ อาจารย์สุพจน์  นิ่มอนงค์ อาจารย์ณัยชญา จํารูญกุล อาจารย์พิมพ์ศิริ ศรีพงศ์พันธุ์ อาจารย์อภิญญา ลีรพันธ์ อาจารย์ชนันทา หงส์ธนากร  อาจารย์สุภัทศรี เศรษฐสินธุ์  เป็นต้น ร่วมกันจัดงานประชุมระดับนานาชาติ      ของเราเองที่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คืองานประชุม the 4th ASEAN Perspective in Liver Diseases 2016 (APLD 2016) โดยมีอาจารย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี เป็นประธานในการจัดงานซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

สมาคมโรคตับฯ เกิดมาและประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้เกิดจากการนำของอาจารย์เติมชัย        ไชยนุวัติ ซึ่งถือเป็น Founder แล้วก็มีการสนับสนุนร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมกำลัง อย่างเสียสละ และ       รักใคร่ ปรองดองกัน ของอาจารย์แพทย์จากทั้งสมาคมโรคตับฯ และ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ สมาคมฯ เรารักกันเหมือนพี่ เหมือนน้อง เหมือนเพื่อน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เหมือนครอบครัว สำหรับผม สมาคมโรคตับฯ เป็นอีกครอบครัวหนึ่งซึ่งเราเป็นพี่น้องที่รักใคร่กัน และ ไม่เคยมีใครแก่งแย่งกัน สามารถทำงานร่วมกัน และ สนับสนุนกันในทุกๆ ด้าน เรื่อยมา 

จากความสำเร็จจากการจัดงานประชุม APASL 2011 การจัดการประชุม APASL ก็วนมาถึงอีกรอบหนึ่งเป็นระยะเวลา 10 ปีพอดี ของการที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน APASL โดยที่อาจารย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี เป็น President ของงานประชุม APASL 2021 จัดที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ท้าทายความร่วมมือ และ ความสามัคคีของพวกเราคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้มีปัญหาในหลายด้าน ท้ายสุดเราจึงจัดงานประชุม APASL 2021 ในรูปแบบ Virtual Meeting ถือเป็นครั้งแรกของการประชุม APASL ที่จัดประชุมในรูปแบบนี้ ภายใต้การนำของอาจารย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี และ ความร่วมแรง ร่วมมือ ร่วมใจ ของอาจารย์     ทุกท่าน เพื่อน ๆ น้อง ๆ ในสมาคมฯ ทุกท่านร่วมกันทำให้การจัดงานประชุม APASL 2021 ในรูปแบบ Virtual Meeting ประสบความสำเร็จด้วยดี และ ได้รับคำชื่นชมยินดีมากมาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด ผลกำไร       จากการจัดงานประชุมอีกประมาณ 15 ล้านบาท ถือได้ว่าเกินความคาดหมายจากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน หรือ   เท่าทุน 

ปัจจุบันนี้ผมมองเห็นอนาคตที่สดใจ และ เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ ของสมาคมโรคตับ ฯ เนื่องจากกรรมการทุกท่านยังรักใคร่ ปรองดอง สามัคคี ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน เช่นเดิม

Share This: