Tea and the Liver (2)

พ.ญ.พนิดา ทองอุทัยศรี

ดื่มชาเพียงอย่างเดียวป้องกันการเกิดไขมันพอกตับได้หรือไม่

การดื่มชาอย่างเดียวโดยไม่คุมอาหารและออกกำลังกายไม่ได้ลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะไขมันพอกตับ มีการศึกษาในคนจีน 19,350 คนที่ดื่มชาชนิดต่างๆไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำติดตามระยะยาวโดยไม่ควบคุมปัจจัยอื่น พบว่าการเกิดไขมันพอกตับไม่ลดลง

ในหนูทดลองที่ให้อาหารไขมันสูงจนเกิดภาวะไขมันพอกตับพบว่าหนูได้ชาเขียวสกัดร่วมกับออกกำลังกาย ทำให้ไขมันพอกตับลดลงมากกว่าหนูที่ออกกำลังกายหรือได้ชาเขียวสกัดอย่างเดียว

 

ชากับการเกิดมะเร็งตับ

มีการศึกษาพบว่าการดื่มชาเขียวตั้งแต่ 4 แก้วต่อวันและระยะเวลาในการดื่มต้องนานมากกว่า 20 ปีอาจลดการเกิดมะเร็งตับ จาก meta-analysis พบว่าผู้ดื่มชาเขียว > 5 แก้วต่อวันจะมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งตับลดลงน้อยกว่าร้อยละ 38 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่ดื่ม ทั้งนี้แม้ว่าชาอาจมีประโยชน์ในการลดการเกิดมะเร็งตับ แต่ปัจจัยสำคัญที่ป้องกันไม่ให้เป็นหรือลดการเกิดมะเร็งตับ คือการป้องกันไม่ให้เป็นโรคตับเช่นไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และระวังการติดเชื้อไวรัสตับจากทางเลือดและเพศสัมพันธุ์และการรักษาสาเหตุโรคตับ

 

ชามีอันตรายต่อตับหรือไม่

โดยทั่วไปชาเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพรวมทั้งต่อตับ อาจจะมีข้อควรระวังในผู้ป่วยโรคไตเนื่องจากชามีสารออกซาเลตสูง และผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับและโรคกระเพาะเนื่องจากมีสารคาเฟอีน

มีรายงานชาเขียวสกัดเข้มข้น (GTE) ในปริมาณมากเกินไปอาจมีผลต่อตับ ทั้งนี้ GTE มีสาร EGCG ขนาดต่างกันตั้งแต่ 5-1000 มิลลิกรัม ถ้ากิน GTE 9.9 กรัมต่อวันเท่ากับดื่มชาเขียวถึง 24 แก้วต่อวัน ถ้าได้รับสาร EGCG มากเกินไปอาจทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน (hepatocellular injury) มักเป็นใน 3 เดือน (10 วัน-7 เดือน) และส่วนใหญ่หายเป็นปกติหลังหยุดกิน อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยตับวายและเสียชีวิต ทั้งนี้ European Food Safety Authority (EFSA) แนะนำถ้าจะกิน GTE และปลอดภัยต่อตับไม่ควรเกิน 800 มิลลิกรัมต่อวัน

 

กล่าวโดยสรุป ชามีสาร polyphenols หลายชนิดโดยเฉพาะ EGCG ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและตับ แต่ก็ไม่ดื่มมากเกินไปโดยเฉพาะแบบสกัดเพราะอาจมีผลเสียกับตับได้

คนที่ดื่มชาเพราะชอบในรสชาติและความหอม ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่าและมีผลดีต่อสุขภาพ การชงชาให้อร่อยแต่ละคนก็มีเคล็ดลับต่างกัน น้ำที่ใช้ต้องสะอาด ถ้าเป็นชาขาวหรือชาเขียวควรจะชงในน้ำที่ไม่ร้อนมาก (76-85 องศาเซลเซียส) ชาอู่หลงใช้น้ำอุณหภูมิ 85-98 องศาเซลเซียส ส่วนชาดำและชาผูเอ่อต้องเป็นน้ำเดือดเต็มที่ 100 องศาเซลเซียส การแช่ชาแช่ประมาณ 1-2 นาที และชิมเรื่อยๆ จนกว่าชาจะมีรสชาติดี แต่อย่าแช่นานเพราะจะขมเกินไปและสารที่มีประโยชน์ในชาอาจลดลง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Yang Xia , Xuena Wang , Shunmin Zhang ,et al. Daily Tea Drinking Is Not Associated With Newly Diagnosed Non-Alcoholic Fatty Liver Disease in Chinese Adults: The Tianjin Chronic Low-Grade Systemic Inflammation and Health Cohort Study. Nutr J 2019;18(1):71.
  2. Khoo WY, Chrisfield BJ, Sae-Tan S, Lambert JD. Mitigation of nonalcoholic fatty liver disease in high-fat-fed mice by the combination of decaffeinated green tea extract and voluntary exercise. J Nutr Biochem. 2020;76:108262.
  3. Chen-Xu Ni , Hong Gong , Ying Liu , et al. Green Tea Consumption and the Risk of Liver Cancer: A Meta-Analysis. Nutr Cancer 2017;69(2):211-220.
  4. LiverTox: Clinical and Research Information on DrugInduced Liver Injury [Internet]. Bethesda (MD): National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases; 2012-. Green Tea. [Updated 2018 Mar 12]. Bookshelf URL: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/
  5. https://www.efsa.europa.eu/en/press/news/180418

 



Tags: Miscellaneous
Share This: