โรคตับจากแอลกอฮอล์ (Alcohol-related liver disease – ARLD หรือ ALD)(3)

พ.ญ.พนิดา ทองอุทัยศรี เรียบเรียง

การรักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์

  1. หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระยะไขมันพอกตับ ถ้าหยุดดื่มตับกลับจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 4-6 สัปดาห์ ระยะตับอักเสบเรื้อรังการหยุดดื่มจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและภาวะแทรกซ้อนเช่น เลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ท้องมาน อาการทางสมอง ตับอักเสบเฉียบพลัน มะเร็งตับและลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ดื่มจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานและต้องการหยุดดื่ม ควรพบแพทย์เพื่อให้คำแนะนำและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะการหยุดดื่มทันทีอาจเกิดภาวะถอนพิษสุรา (alcohol withdrawal syndrome) มักเกิดในระยะ 24-72 ชั่วโมงหลังหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาการที่พบได้แก่ ตัวสั่น มือสั่นหงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ชีพจรเร็ว เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตขึ้นสูง อาการรุนแรงมากสุดในช่วง 24-48 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ลดลงจนปกติภายใน 
5-7 วัน บางรายอาจมีอาการรุนแรงเช่น ชัก (alcohol withdrawal seizure) มักเกิดในช่วง 7-48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา อาการทางจิตประสาท (alcohal withdrawal delirium) รวมทั้งอาจเกิดหูแว่ว ภาพหลอน (alcohol hallucinosis)
  2. รับประทานอาหารอย่างครบถ้วนเพียงพอ ผู้ป่วยโรคตับโดยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะติดเชื้อง่ายและมีอัตราการเสียชีวิตสูง แนะนำให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ โดยรับประทานประมาณ 35-40 kcal ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมและปริมาณโปรตีน 1.2 -1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 
1 กิโลกรัม กรณีที่มีภาวะตับวายและมีอาการทางสมองอาจลดปริมาณโปรตีนลงชั่วคราวและเลือกโปรตีนเสริมที่เป็นกรดอะมิโนโซ่กิ่ง (branch chain amino acid) หลังจากอาการทางสมองดีขึ้นจึงเพิ่มปริมาณโปรตีน

    ทั้งนี้อาหารต้องให้ครบ 5 หมู่ สุกและสะอาด รวมทั้งเพิ่มเติมวิตามิน เกลือแร่ที่มักขาดในผู้ป่วยเช่น วิตามินบี 1 สังกะสี (Zinc) ในกรณีที่มีอาการเบื่อหรือท้องมานผู้ป่วยจะทานอาหารได้ไม่มาก แนะนำให้ทานแบ่งเป็น 4-5 มื้อต่อวันรวมทั้งมีอาหารเสริมระหว่างมื้อ (อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับจะได้กล่าวในบทความต่อไป)

  3. การรักษาด้วยยา ปัจจุบันไม่ได้มียารักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์ การรักษาที่ดีที่สุดคือการหยุดดื่ม ยกเว้นในระยะตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic hepatitis) แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ในผู้ที่มีตับอักเสบรุนแรง เช่น Maddrey’s discriminant function (mDF) > 32 หรือ Model for End-Stage Liver Disease (MELD) score > 20 และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาสเตียรอยด์เช่น ติดเชื้อรุนแรง ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกทางเดินอาหาร อวัยวะอื่นล้มเหลว และภาวะช็อก เป็นต้น

    ยาอื่นๆที่อาจจะได้ผลแต่อยู่ระหว่างการศึกษาได้แก่ N-acetylcysteine (NAC) ร่วมกับยาสเตียรอยด์, Granulocyte-colony stimulating factor (G-CSF), fecal transplantation ฯลฯ

  4. การผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือการปลูกถ่ายตับ (Liver transplantation) โดยทั่วไปจะพิจารณาในรายที่เป็นตับแข็งระยะท้ายและหยุดดื่มอย่างน้อย 6 เดือน หรือในกรณีที่เป็นตับวายเฉียบพลันรุนแรง

    การปลูกถ่ายตับอาจจะได้ทั้งจากการบริจาคอวัยวะจากผู้เพิ่งเสียชีวิตหรือได้จากผู้ให้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งแบบหลังในประเทศไทยยังทำได้ไม่มากนัก หลังจากปลูกถ่ายตับแล้วผู้ป่วยไม่ควรกลับมาดื่มแอลกอฮอล์ใหม่เพราะทำให้โรคตับจะกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้กว่าจะได้รับบริจาคตับต้องใช้เวลารอคอยนานและยังมีผู้ป่วยโรคตับอื่นๆหลายคนต่างก็รอคอยตับเพื่อปลูกถ่ายตับอีกจำนวนมาก

เอกสารอ้างอิง

  1. EASL Clinical Practice Guidelines: Management of alcohol-related liver disease. J Hepatol 2018;69:154-181.
  2. Crabb DW, Im GY, Szabo G, et al. Diagnosis and Treatment of Alcohol Associated Liver Diseases: 2019 Practice Guidance From the American Association for the Study of Liver Diseases. Hepatology 2020; 71:306-333.
  3. Avila MA, Dufour JF, Gerbes AL, et al. Recent advances in alcohol-related liver disease (ALD): summary of a Gut round table meeting. GUT 2020;69:764-780.


Tags: Alcoholic liver disease
Share This: