โรคตับจากแอลกอฮอล์ (Alcohol-related liver disease – ARLD หรือ ALD) (2)

พ.ญ.พนิดา ทองอุทัยศรี เรียบเรียง

การดำเนินโรคของโรคตับจากแอลกอฮอล์

เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและต่อเนื่องส่งผลต่อการเกิดโรคตับ โดยระยะแรกเกิดภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease) ซึ่งระยะนี้มักไม่มีอาการ และถ้าหยุดดื่มตับสามารถกลับมาปกติได้ใน 4-6 สัปดาห์ ถ้ายังดื่มต่อเนื่อง ร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเรื้อรัง (Alcoholic steatohepatitis) และพังผืด (fibrosis) ในเนื้อตับและร้อยละ 20 เข้าสู่ภาวะตับแข็ง (Alcoholic cirrhosis) ในเวลาประมาณ 10 ปี

ในระยะตับแข็งเริ่มต้น (compenstaed cirrhosis) ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย พยาธิสภาพในตับมีพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับปริมาณมากขึ้นทำให้ตับมีลักษณะรูปร่างเปลี่ยนแปลงและการทำงานลดลงเข้าสู่ตับแข็งระยะท้าย (decompensated cirrhosis) จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน ท้องมาน (ascites) ขาบวม ขาดสารอาหาร ซึมสับสน (hepatic encephalopathy) อาเจียนเป็นเลือดจากเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร ไตวาย ติดเชื้อง่ายและเสียชีวิตในที่สุด มีการศึกษาติดตามผู้ป่วยตับแข็งจากแอลกอฮอล์นาน 5, 10, 15 ปีพบว่าอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 71,84 และ 90 ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญทำให้เสียชีวิตคืออายุมากและยังดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในผู้ป่วยตับแข็งและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องมานหรือเลือดจากเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร หรือมีอาการซึมสับสน พบว่าภายใน 1 ปี มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 49 ในและร้อยละ 64 ตามลำดับ

ผู้ป่วยในระยะตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ติดตามผู้ป่วยตับแข็งในระยะเริ่มต้นนาน 5 ปี อัตราการเกิดมะเร็งตับร้อยละ 2.6 ต่อปี และจาก meta-analysis พบว่าถ้าหยุดดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเป็นมะเร็งตับลดลงถึงร้อยละ 6-7

มีอีกภาวะที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ดื่มต่อเนื่อง คือภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic hepatitis) พบประมาณร้อยละ 20-40

มักจะเกิดขึ้นในคนที่ดื่มประจำอยู่แล้วและมาดื่มหนักๆในช่วงสั้นเช่นวันหยุดและเทศกาลต่างๆหรือมีภาวะติดเชื้อร่วมด้วย อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงตับวาย (acute-on-chronic liver failure หรือ ACLF) อาการที่พบได้แก่ อาการไข้ ปวดท้อง ตับโต คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน น้ำหนักลด ท้องบวม ขาบวม สับสน อาเจียนเป็นเลือด ติดเชื้อง่าย ไตวายเฉียบพลัน และในคนที่มีอาการรุนแรงตับวายมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10-72

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์เช่น ปริมาณที่ดื่ม พบว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 30-60 กรัมต่อวันมีความชุกต่อการเกิดตับแข็งน้อยกว่าน้อยกว่า 120 กรัมต่อวันคิดเป็นร้อยละ 1 และ 5.7 ตามลำดับ ผู้หญิงมีโอกาสตับแข็งมากกว่าผู้ชาย มีการศึกษาในผู้หญิงกว่า 400,000 คนติดตามไป 15 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มมากกว่า 15 standard drinks (220 กรัม) ต่อสัปดาห์เกิดภาวะตับแข็งมากกว่าผู้ที่ดื่ม 1-2 standard drinks (30 กรัม) ต่อสัปดาห์ถึง 3.43 เท่า และถ้าดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รับประทานอาหารร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง 2.47 เท่า ปัจจัยทางพันธุกรรมเช่น ยีนส์ PNPLA3, TM6SF2, MBOAT7, HSD17B13 เชื้อชาติเอเชียและตะวันตก สูบบุหรี่ คนอ้วนรวมทั้งคนที่มีโรคตับอยู่ก่อนแล้วเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซี ธาตุเหล็กเกินฯลฯ มีข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ชอบดื่มกาแฟ พบว่าการดื่มกาแฟมีส่วนลดการเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ได้

 

ตอนถัดไป จะกล่าวถึงแนวทางการรักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์ โปรดติดตามนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. EASL Clinical Practice Guidelines: Management of alcohol-related liver disease. J Hepatol 2018;69:154-181.
  2. Crabb DW, Im GY, Szabo G, et al. Diagnosis and Treatment of Alcohol Associated Liver Diseases: 2019 Practice Guidance From the American Association for the Study of Liver Diseases. Hepatology 2020; 71:306-333.
  3. Avila MA, Dufour JF, Gerbes AL, et al. Recent advances in alcohol-related liver disease (ALD): summary of a Gut round table meeting. GUT 2020;69:764-780.
  4. Jepsen P, Ott P, Andersen PK, Sorensen HT, Vilstrup H. Clinical course of alcoholic liver cirrhosis: a Danish population-based cohort study. Hepatology 2010;51:1675–1682.
  5. Simpson RF, Hermon C, Liu B,et al. Alcohol drinking patterns and liver cirrhosis risk: analysis of the prospective UK Million Women Study. Lancet Public Health. 2019;4:41-48.



Tags: Alcoholic liver disease
Share This: