พ.ญ.พนิดา ทองอุทัยศรี
ชาเป็นเครื่องดื่มที่อันดับต้นของโลกรองจากน้ำ ชาที่นิยมดื่มส่วนใหญ่เป็นชาเขียวและชาดำ ในไทยหลายคนอาจชอบดื่มชาอู่หลงที่มีกลิ่นที่หอม ชาเป็นผลิตผลทางการเกษตรได้จาก ต้นชา (Camellia sinensis) ชามีหลายชนิดแบ่งตามกระบวนการแปรรูป ได้แก่ ชาขาวเป็นตูมชาและยอดอ่อนชาที่ถูกทิ้งให้สลดแต่ไม่ได้บ่ม ชาเหลืองเป็นใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม ชาเขียวใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม ชาแดงเป็นใบของชาเขียวที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือการหมัก ชาอู่หลงเป็นใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย ชาดำใบชาที่ทิ้งให้สลดและผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ และชาผูเอ่อเป็นชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลยูนนาน ที่อำเภอผูเอ่อ เป็นชาหมัก
ชามีสารคาเฟอีนร้อยละ 2-4 ขึ้นกับชนิดของชา (น้อยกว่ากาแฟ) ชาดำมีมากกว่าชาเขียว โดยชาดำ 1 กรัมมีสารคาเฟอีน 22-28 มิลลิกรัม ส่วนชาเขียวมี 11-20 กรัม สารที่สำคัญในชาและมีมากถึงร้อยละ 30-40 คือ polyphenols ได้แก่ flavonoids, epigallocatechin gallate (EGCG) และ คาเทชิน (catechins) มีฤทธิ์หลายอย่างเช่น สารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการดูดซึมไขมัน ลดการสะสมไขมันในร่างกายและที่ตับ ลดน้ำหนัก ป้องกันหลอดเลือดหัวใจ ช่วยในการคุมเบาหวาน ปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ช่วยเรื่องความจำและลดการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
ประโยชน์ของชาต่อตับ
การศึกษาผลดีของชาที่มีต่อตับมีไม่มากเท่ากับการศึกษาเรื่องกาแฟ การศึกษาส่วนใหญ่ในชาเขียว รองมาเป็นชาดำและชาอู่หลง
ชาและภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD))
มีการศึกษาให้ชาเขียว สารสกัดชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง และชาคอมพูชา ซึ่งเป็นชาหมักที่เกิดจากการหมักด้วยน้ำตาล จุลินทรีย์และยีสต์หรือ SCOBY (Symbiotic Culture of Bacteria and Yeast) ซึ่งมี probiotic ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ดี ในหนูทดลองที่ให้อาหารไขมันสูงจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ (NAFLD) พบว่าหนูที่ได้ชาดังกล่าวมีไขมันพอกตับลดลงและการอักเสบในตับดีขึ้น
การศึกษาในคนให้ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินในปริมาณต่างกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าการดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินสูงช่วยให้ระดับเอนไซม์ตับลดลงและไขมันในร่างกายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มชาเขียวหรือกลุ่มที่ดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินอยู่น้อย
จากการศึกษา meta-analysis พบว่าการให้ green tea supplementation ในผู้ป่วย NAFLD ทำให้ค่าเอนไซม์ตับลดลง (alanine aminotransferases (ALT) และ aspartate aminotransferases (AST)) total cholesterol triglyceride LDL และดัชนีมวลการลดลง แต่ไม่มีผลในการเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีและไม่มีผลต่อ homeostasis model assessment of insulin resistance (HOMA)
สารที่เชื่อว่าทำให้ภาวะไขมันพอกตับดีขึ้น คือ EGCG มีผลต่อเมแทบอลิซึมของน้ำตาลและไขมันในร่างกาย ต้านการอักเสบและลดพังผืดในตับ ทั้งนี้ชาเขียวซึ่งไม่ผ่านการหมักจะมีสาร EGCG มากกว่าชาอู่หลงและชาดำ ในชาเขียวจะมีสาร EGCG ประมาณร้อยละ 35-50 มากกว่าชาอู่หลง และชาดำ มีร้อยละ 8-20 และ10 ตามลำดับ
เอกสารอ้างอิง
- Ryuichiro Sakata , Toru Nakamura, Takuji Torimura,et al. Green Tea With High-Density Catechins Improves Liver Function and Fat Infiltration in Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) Patients: A Double-Blind Placebo-Controlled Study. Int J Mol Med 2013;32(5):989-94.
- Subhra Karmakar , Dolan Das, Anasuya Maiti, Sangita Majumdar, et al. Black Tea Prevents High Fat Diet-Induced Non-Alcoholic Steatohepatitis. Phytother Res 2011;25(7):1073-81.
- Erdong Yuan , Xuefei Duan , Limin Xiang , et al. Aged Oolong Tea Reduces High-Fat Diet-Induced Fat Accumulation and Dyslipidemia by Regulating the AMPK/ACC Signaling Pathway. Nutrients 2018;10(2):187.
- Chanbin Lee , Jieun Kim , Sihyung Wang ,et al. Hepatoprotective Effect of Kombucha Tea in Rodent Model of Nonalcoholic Fatty Liver Disease/Nonalcoholic Steatohepatitis. Int J Mol Sci 2019;20(9):2369.
- Mansour-Ghanaei F, Hadi A, Pourmasoumi M, et al. Green tea as a safe alternative approach for nonalcoholic fatty liver treatment: A systematic review and meta-analysis of clinical trials. Phytother Res. 2018 ;32(10):1876-1884.
Tags: Miscellaneous