ไข้เลือดออกและผลกระทบต่อตับ (Dengue and effects on liver)

รศ.นพ. กิตติยศ ภู่วรวรรณ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกคือโรคกี่เกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำเชื้อ โดยคนจะติดเชื้อจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัด ไข้เลือดออกพบได้มากพื้นที่เขตร้อนที่มียุงพาหะชุกชุม ในปัจจุบันแม้ว่าโรคติดเชื้อโรคต่างๆส่วนมากมีแนวโน้มลดลงแต่อุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง มีการประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีการติดเชื้อไข้เลือดออกถึงประมาณ 400 ล้านรายต่อปี โดยประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการ1 และจากข้อมูลองค์การณ์อนามัยโลกพบว่าไข้เลือดออกเป็นเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 20,000 รายต่อปี การที่แนวโน้มของไข้เลือดออกไม่ลดลงนั้นส่วนหนึ่งคือยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำเชื้อยังคงมีอยู่ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของสังคมเมืองในภูมิภาคต่างๆ

อาการแสดงการติดเชื้อไวรัสเดงกี่มีหลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยส่วนใหญ่อาจแสดงอาการเป็นกลุ่มอาการไข้ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน (undifferentiated fever) โดยผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ ครั่นเนื้อตัว ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อซึ่งหายได้เอง โดยอาจไม่ได้พบแพทย์หรืออาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออก ในรายที่มีอาการชัดเจนได้รับการตรวจยืนยันจะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไข้เดงกี่ (Dengue fever) โดยประมาณ 30 % ของคนไข้โรคไข้เดงกี่อาจเกิดเป็นโรคไข้เลือดออก (Dengue haemorrhagic fever) ซึ่งจะมีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือดหรือมีเลือดออกตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยประมาณ 3-5% ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้2 ในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกพบได้มากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนการป้องกันไม่ให้ยุงกัดและควบคุมแหล่งกำเนิดลูกน้ำยุงลายเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันโรค

ผลกระทบต่อตับ

พยาธิกำเนิดของการบาดเจ็บที่ตับเกิดจากผลกระทบต่อตับโดยตรงโดยตรงของไวรัสเดงกี่และอาจเกิดจากผลกระทบของระบบไหลเวียนโลหิตที่ล้มเหลวในรายที่เป็นโรคไข้เลือดรุนแรง จากการศึกษาพบว่าไวรัสเดงกี่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อเซลล์ตับ (Hepatocytes) เม็ดเลือดขาวคุฟเฟอร์เซลล์ (Kupffer cells) และเซลล์ผนังหลอดเลือดในตับ (Endothelial cells)3

ภาวะแทรกซ้อนทางตับพบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี่โดยอาจพบภาวะตับอักเสบจากการตรวจการทำงานของตับไปจนถึงตับอักเสบรุนแรงและตับวายเฉียบพลัน โดยภาวะตับวายเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่สองหลังจากมีอาการ4 จากการศึกษาในโรงพยาบาลในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มากกว่า 60% มีตับอักเสบร่วมด้วยและพบภาวะตับวายเฉียบพลันประมาณ 0.3% โดยในกลุ่มที่มีภาวะตับวายเฉียบพลันมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 66%5 ลักษณะของตับอักเสบที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี่คือระดับ Aspartate aminotransferase (AST) มักจะสูงกว่า Alanine aminotransferase (ALT) ระดับบิลิรูบินที่สูงพบได้ไม่บ่อย โดยมักจะพบระดับบิลิรูบินที่สูงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดที่มีอาการรุนแรง ในปัจจุบันยังไม่มียาที่จำเพาะในการรักษาตับอักเสบจากไวรัสเดงกี่ โดยทั่วไปการอักเสบชองตับจะค่อยๆดีขึ้นจนหายเป็นปกติประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากฟื้นไข้ ในรายที่มีอาการตับอักเสบรุนแรงอาจพิจารณาให้ยา N‐acetyl cysteine ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันประสิทธิผลที่ชัดเจนของยาตัวนี้ในโรคไข้เลือดออก4

เอกสารอ้างอิง

  1. Bhatt S, Gething P W, Brady O J, Messina J P, Farlow A W, Moyes C L, et al. The global distribution and burden of dengue. Nature 2013; 496: 504-7.
  2. Chong LN, Poovorawan K, Hanboonkunupakarn B, Phumratanaprapin W, Soonthornworasiri N, Kittitrakul C, Nontprasert A, Pukrittayakamee S. Prevalence and Clinical Manifestations of Dengue in Elderly Patients in Bangkok Hospital for Tropical Diseases, Thailand. Trans R Soc Trop Med Hyg 2020: Accepted for publication.
  3. Povoa T F, Alves A M, Oliveira C A, Nuovo G J, Chagas V L, Paes M V. The pathology of severe dengue in multiple organs of human fatal cases: histopathology, ultrastructure and virus replication. PLoS One 2014; 9: e83386.
  4. Dissanayake H A, Seneviratne S L. Liver involvement in dengue viral infections. Rev Med Virol 2018; 28.
  5. Kye Mon K, Nontprasert A, Kittitrakul C, Tangkijvanich P, Leowattana W, Poovorawan K. Incidence and Clinical Outcome of Acute Liver Failure Caused by Dengue in a Hospital for Tropical Diseases, Thailand. Am J Trop Med Hyg 2016; 95: 1338-44.


Tags: Miscellaneous
Share This: