โดย. กันต์นธีร์ ตาคำ นักโภชนาการCDT. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ก่อนที่จะกล่าวถึงภาวะโภชนาการกับไขมันพอกตับ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะว่า ภาวะไขมันพอกตับคือและสาเหตุเกิดจากอะไร
ภาวะไขมันพอกตับคือภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเซลล์ตับ หรือก็คือการที่มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินที่เกิดจากการรับประทานอาหารำพวกข้าว แป้ง น้ำตาลมากเกินความต้องการ จนตับนำเอาน้ำตาลส่วนเกินที่เหลือจากการให้เป็นพลังงานประจำวันไปสร้างเป็นไขมัน (Lipogenesis) เก็บสะสมในตับของเรา เมื่อไขมันไปพอกตับมากและเป็นเวลานาน ก็ทำให้ตับอักเสบหรือเซลล์ตับตาย จนนำไปสู่การเกิดพังผืดที่ตับจนกลายเป็นโรคตับแข็งและเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
ภาวะไขมันพอกตับเกิดได้ทั้งกับคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีความผิดปกติในระบบเผาผลาญพลังงานที่ไม่ดีจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลและการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย มักพบในโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง จนทำให้ไขมันไปสะสมอยู่ที่ตับเกินกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ นอกจากนี้อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของการได้รับยาปฏิชีวนะบางประเภท ยาต้านไวรัสบางชนิด หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์ เราจะมีวิธีการอย่างไรในการดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็น ไขมันพอกตับในอนาคต
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคก็ต้องไปแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ กล่าวคือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายหรือปรึกษาแพทย์ เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในภาวะปกติมากที่สุด (คำนวณแบบง่าย ผู้ชาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) – 100 = น้ำหนักปกติ, ผู้หญิง น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) – 110 = น้ำหนักปกติ )
พฤติกรรมการบริโภคอาหารในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต และอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
ปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่ควรบริโภคไม่ควรเกินร้อยละ 65 ของพลังงานจากสารอาหารทั้งหมดในหนึ่งวัน การคุมอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเราสามารถศึกษาจากค่าดัชนีน้ำตาล Glycemic index (GI) ในอาหารชนิดนั้นๆ การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง สามารถทำให้อ้วนได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในกระแสเลือดขึ้นเร็วเกินไป ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ น้ำตาลในกระแสเลือดล้นเปลี่ยนไปสะสมเป็นไขมัน แล้วค่าดัชนีน้ำตาลคืออะไร
ดัชนีน้ำตาลคือ หน่วยวัดผลของการย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลกลูโคส กลูโคสจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วเพียง 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้นเข้าไป
อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงๆ เช่น ไอศกรีม ข้าวเหนียว ข้าวเจ้าขาวขัดสี ผลิตภัณฑ์ขนมเบเกอรี่ น้ำอัดลม น้ำหวานและขนมหวานต่างๆ ผลไม้เชื่อม ตากแห้ง หัวเผือก ฟักทอง จะมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ราว ๆ 70-80 %
อาหารจำพวกข้าวกล้อง ผักกินใบ ผลหรือหัว เช่นหัวไชเท้า แครอท ดอกกะหล่ำ มะเขือ หัวหอมใหญ่ คะน้ากวางตุ้ง และผลไม้ ต่างๆ จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 60 % เนื่องจากอาหารจำพวกนี้มีใยอาหารสูง การย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสในเลือดจึงเป็นไปอย่างช้า ๆและเราก็จะได้รับพลังงานส่วนเกินน้อยลงและทำให้เราอิ่มนาน
นอกจากสารอาหารที่เราเรียกว่าคาร์โบไฮเดรตแล้วก็ยังมีสารอาหารโปรตีน และไขมัน ซึ่งมีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์จาก น้ำมัน เนยสด เนยมาการีน ชีส ที่ให้พลังงานสูง ถ้าเรารับประทานอาหารจำพวนนี้มากเกินไปก็ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือ อ้วนได้
อาหารในกลุ่มไขมันก็ไม่ควรบริโภคเกินร้อยละ 35 ของพลังงานทั้งหมด ควรเลือกรับประทานเป็นอาหารไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ส่วนกลุ่มที่มีกรดไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง ที่ควรหลีกเลี่ยงซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเลยก็ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันและไขมันจากสัตว์ เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์
ส่วนสารอาหารโปรตีนควรมาจากแหล่งโปรตีนชนิดดีที่มีปริมาณไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อวัว ไม่ติดหนังและมัน
เท่านี้เราก็สามารถที่จะดูแลสุขภาพจากอาหารการกินดังคำที่ว่า “You are what you eat” คุณกินอะไรเข้าไปก็เป็นอย่างนั้น รวมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ คุณก็จะได้ปลอดภัยจากโรคไขมันพอกตับได้
Tags: Nonalcoholic Fatty liver disease