ความในใจจากนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย วาระ 2566 ถึง 2567
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข
เมื่อทราบว่าดิฉันได้รับเลือกจากคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยในวาระนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง โดยก่อนรับตำแหน่ง ดิฉันได้เรียญเชิญสมาชิกสมาคมฯ 17 ท่านเพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ทุกท่าน รวมทั้งท่านที่ปรึกษาฯ ได้ตอบรับและยินดีมาร่วมกันบริหารสมาคมฯ การบริหารงานของสมาคมฯในวาระนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาคมฯมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น จนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล พร้อมทั้งเป็นที่พึ่งของสังคมไทย โดยใช้แนวทาง Objective and Key Results (OKR) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีการวัดผลการดำเนินงานจาก OKR หลายอย่าง เช่น สมาคมฯได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในประเทศและต่างประเทศ ประเทศไทยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคตับเพิ่มขึ้น และมีจำนวนของผู้เข้าชมเว็บไซต์และหน้าเฟซบุ๊กของสมาคมฯเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10%
การบริหารสมาคมโรคตับฯ ในระยะเวลา 2 ปีนี้ (2566-2567) ได้บรรลุผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่สมาคมฯได้รับเชิญจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัย ข้อมูลที่มีน่าสนใจผ่าน website ของสมาคมฯ และ facebook ของสมาคมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอด 2 ปี ไม่ว่าการจัดทำคลิปวิดีโอให้ความรู้กับแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง และประชาชน จึงทำให้จำนวนผู้เข้าชม website และ facebook ของสมาคมฯเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน ดิฉันจึงขอขอบคุณท่านประธานฝ่ายวารสาร แพทย์หญิงพนิดา ทองอุทัยศรี รวมทั้งทีมงานฝ่ายเลขาฯ ทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ คุณสุวิมล จันทสาโร และ คุณปพิชญา สุจริตจิตร ไว้ณ.ที่นี้
ความสำเร็จของคณะกรรมการบริหารของวาระนี้ ในด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การสานต่องานต่างๆอันสืบเนื่องจากวาระของ ศาสตราจารย์นายแพทย์พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ ได้แก่ การผลักดันโครงการต่างๆ เช่น
- หลักสูตร Advance Hepatology Fellowship Training ได้รับการอนุมัติจากแพทยสภา ซึ่งหลักสูตรนี้ มีความสำคัญมากต่อการเตรียมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตับ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ซับซ้อน รวมถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
- ในวาระนี้ ได้มีการผลักดันแนวทางเวชปฏิบัติ (guideline) เรื่อง Alcohol-Associated Liver Disease จนอยู่ในระหว่างการแก้ไขของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
ในวาระนี้ ได้มีการริเริ่มงานใหม่ ได้แก่ การจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติของโรค Cirrhosis ซึ่งการดำเนินการจัดทำ Cirrhosis guideline สําเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว และด้วยความสะดวกอย่างยิ่ง เนื่องด้วยมีการดำเนินงานของการจัดทำและการโหวตด้วยระบบ web-based รวมทั้งมีการประชุมของคณะกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติฯ ผ่านระบบ online เป็นส่วนใหญ่ และมีการประชุมใหญ่ด้วยระบบ hybrid โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯเพื่อพิจารณา และเผยแพร่ต่อไป
ท้ายสุดนี้ ดิฉันขอขอบพระคุณคณะกรรมการและที่ปรึกษาของการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติฯ Cirrhosis guideline ทั้ง 57 ท่าน พร้อมด้วยทีมงานแลขาฯ ที่ได้ทุ่มเทสรรพกำลัง และ สละเวลาอันมีค่าของท่านในการร่วมกันจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติฯที่มีเนื้อหาจำนวนมากนี้จนสำเร็จลุล่วงในเวลาไม่นาน
ด้านการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี ในวาระนี้ ได้มีการดำเนินงานขอ CME ให้แพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในการจัดงานประชุมวิชาการสมาคมโรคตับ ฯ ประจำปี พ.ศ. 2567
นอกจากนี้สมาคมโรคตับฯ ยังได้ผลักดันนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรคตับที่ซับซ้อน เช่น การผลักดันยารักษาไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยในวงกว้าง
ความสำเร็จของสมาคมโรคตับฯ เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ฝ่ายเลขานุการ และท่านที่ปรึกษาฯ ทุกท่าน ที่มีส่วนช่วยให้การบริหารสมาคมโรคตับฯ ประสบผลสำเร็จ ลุล่วงในทุกด้าน
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์พูลชัย จรัสเจริญวิทยา นายกสมาคมโรคตับฯ ในวาระต่อไป ขอสิ่งศักดิสิทธิ์ทั้งหลายที่ทุกท่านเคารพบูชา อำนวยพรให้การบริหารของคณะกรรมการบริหารฯในวาระหน้าประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหมาย
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข
นายกสมาคมโรคตับ ฯ วาระ 2566 -2567