ในวาระนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เป็นวาระที่เจอกับวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 อีกด้วยทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการประชุมวิชาการประจำปีจากแบบ on-site เป็น แบบ Hybrid ในวาระนี้เหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ดังนี้
เหตุการณ์สำคัญในวาระปี 2562-2563
- จัดประชุมวิชาการ แบบ non – profit เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2562 ใน theme “Common Consultation in Hepatology” ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพ มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 308 คน เข้าร่วมจริง 253 คน เนื่องจากสมาคมโรคตับ ฯ ได้ลงนามในสัญญา ร่วมกัน 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย) และ สมาคมแพทย์ ส่องกล้องทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ในการร่วมการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Gastro 2018 โดยในสัญญาได้ระบุว่าให้ทุกสมาคม ฯ งดจัดงานประชุมวิชาการของตนเอง 1 ปี โดยเลือกการงดจัดในปี พ.ศ. 2561 หรือ 2562 ก็ได้ แต่เนื่องด้วยสมาคมโรคตับ ฯ จำเป็นต้องมีการจัดประชุมสามัญประจำปี เพื่อเสนอการแก้ข้อบังคับสมาคมโรคตับ ฯ จึงจัดการประชุมวิชาการในปี 2562 แบบ non – profit นับเป็นการจัดประชุมวิชาการของสมาคมโรคตับ ฯ แบบ non – profit เป็นครั้งแรก
- มีการแก้ไขข้อบังคับสมาคมโรคตับ ฯ โดยนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมวิชาการประจำปี 2562 และ มีการรับรองรายงานการประชุม พร้อมยื่นเรื่องเปลี่ยนข้อบังคับสมาคมโรคตับ ฯ ในปี 2563 ได้รับใบรับรองการเปลี่ยนข้อบังคับสมาคมโรคตับ ฯ จาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 18 พ.ย. 2563
- จัดทำ แนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 (Thailand Guideline for Management of Hepatocellular Carcinoma 2019)
- เรียบเรียงเนื้อหา แนวทางการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ประเทศไทย ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- จัดประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 15 ในรูปแบบ Hybrid Conference เป็นครั้งแรก ใน theme “Recent Advances in Hepatology” ระหว่างวันที่ 15 - 17 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรม ดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี จำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 288 คน เข้าร่วมจริง 253 คน
- เสนอให้ใช้ Entecavir หรือ Tenofovir alafenamide เป็นยาชนิดแรกในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ต่อประธานคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ วันที่ 20 สิงหาคม 2562
- เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ได้แก่ Ledipasvir / Sofosbuvir หรือ Pegylated infereon และ Ribavirin ร่วมกับ Sofosbuvir ตามที่ประกาศไว้ โดยเสนอให้ตัดเกณฑ์การตรวจพบ HCV RNA ในเลือดมากกว่า 5,000 IU/mL และการตรวจเนื้อเยื่อตับพบพังผืด ตามเกณฑ์ METAVIR > F2 หรือ Fibroscan > 7.5 kPa เสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
- วันที่ 11 ตุลาคม 2562 ขอเสนอปรับเกณฑ์ในการเข้าถึงการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ในบัญชียาหลักเเห่งชาติ ถึงผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยปรับเปลี่ยนจากการตรวจพบ HCV RNA ในเลือดมากกว่า 5,000 IU/mL เป็นการตรวจยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจริงด้วยวิธีต่าง ๆเช่น HCV RNA qualitative หรือ quantitative หรือ HCV core antigen นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอให้ตัดเกณฑ์การตรวจเนื้อเยื่อตับพบพังผืดตามเกณฑ์ METAVIR ตั้งแต่ F2 ขึ้นไปหรือการตรวจ Fibroscan มีค่ามากกว่า 7.5 kPa ออกไป
- สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ กรมควบคุมโรค เป็นเจ้าภาพจัดงานรับฟังการบรรยายหัวข้อ HCV: from molecular virology to viral eradication โดย ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr. Ralf F. W .Bartenschlager) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2562 ในวันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมกมลพร ชั้น 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
- วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เสนอ Tenofovir alafenamide เพื่อใช้เป็นยาหลักลำดับแรกในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแทน Lamivudine ต่อประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ
- วันที่ 24 เมษายน 2563 เสนอ Tenofovir alafenamide เป็นยาที่มีความเร่งด่วนระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ถึง ประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ
- วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ตอบกลับหนังสือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับยา Tenofovir alafenamide เพื่อพิจารณาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ถึงคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร
สุดท้ายนี้ ผมรู้สึกดีใจ ประทับใจ และ ภูมิใจที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมโรคตับ ฯ ทำให้ได้มาเจออาจารย์ พี่ ๆ น้อง ๆ และ ได้มาทำงานร่วมกัน ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจมากครับ