เหตุการณ์สำคัญวาระปี 2549-2551 ศ.เกียรติคุณ พญ. ชุติมา ประมูลสินทรัพย์

วาระที่ 1 (พ.ศ. 2549- 2551) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ นายกคนแรกของสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย

จากชมรมโรคตับและจุดเริ่มต้นสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย)

ดิฉันศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ นายกคนแรกของสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จะกล่าวย้อนเหตุการณ์จากความทรงจำในอดีต  เริ่มจากการเป็นชมรมโรคตับก่อนถึงจุดเริ่มต้นของการต่อตั้งสมาคมโรคตับฯ  

คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับ โดยการนำของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาโรคตับซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงได้เริ่มก่อตั้งชมรมโรคตับแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 

ชมรมโรคตับที่จัดตั้งขึ้นเดิมอยู่ภายใต้สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับชมรมอื่นๆได้แก่ ชมรมเอ็นโดสโคปี้ย์ ชมรมโมธิลิตี้แห่งประเทศไทย ชมรมลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่และกลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร  ทั้งนี้ชมรมโรคตับมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล เป็นประธาน และดิฉันเป็นรองประธาน นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ เป็นเลขาธิการ และคณะกรรมการ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ แพทย์หญิงวโรชา มหาชัย พันเอกนายแพทย์อนุชิต จูฑะพุทธิ และนายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี   โดยชมรมโรคตับได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคตับแก่แพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ทุกสองเดือน โดยเฉพาะความรู้ในการป้องกัน โรค การดูแลรักษาสุขภาพตนเองและการรักษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคตับ การเข้าถึงการวินิจฉัยเบื้องต้นและเพื่อให้ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที เช่น ภาวะตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบบี ซี แอลกอฮอล์ ภาวะตับวายเฉียบพลัน โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และมะเร็งของท่อน้ำดี เป็นต้น นอกจากนี้ได้จัดทำหนังสือและแผ่นพับเกี่ยวกับโรคตับสำหรับประชาชน เพื่อเผยแพร่ความรู้และให้คำปรึกษาแก่แพทย์และประชาชน โดยดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ ให้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รวมทั้งการจัดประชุมวิชาการ จัดทำหนังสือและ website http://www.thailiverclub.org/  ตลอดจนทำสารชมรมโรคตับปีละ 4 ฉบับและเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคตับอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือความร่วมมือทั้งจากสมาชิก ประชาชนทั่วไปสื่อมวลชน และคุณวนิดา ไชยนุวัติ และเจ้าหน้าทีบริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด ที่ให้การช่วยเหลือดูแลและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของทางชมรมโรคตับเป็นอย่างดี  และอาจารย์จากทางสมาคมโรคระบบทางเดินอาหาร แพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัด และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวนามที่ให้ความช่วยเหลือชมรมอย่างดีมาตลอด ดิฉันขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

ระหว่างที่ชมรมโรคตับได้ดำเนินงานในการเผยแพร่ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับโรคตับได้ไม่นาน รองศาสตราจารย์นายแพทย์ไพโรจน์ ประธานชมรมฯป่วยไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมของชมรมได้และต่อมาท่านเสียชีวิตลง  ดิฉันได้ทำหน้าที่เป็นประธานชมรมแทน ร่วมกับคณะทำงานได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายแพทย์อนุชิต จูฑะพุทธิ และนายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีอุปสรรคหลายอย่างมากมาย แต่ทุกคนต่างไม่ได้ย่อท้อ ร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งมั่นร่วมกัน เสียสละเวลาวันหยุดวันเสาร์อาทิตย์เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆทางวิชาการของชมรมโรคตับอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทำให้ชมรมมีความรัก สนิทสนม สามัคคี นอกเหนือจากความเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

เนื่องจากองค์ความรู้ ความก้าวหน้าและกิจกรรมต่างๆในแต่ละสาขาของโรคระบบทางเดินอาหารมีมากมายรวมทั้งเพื่อความเป็นเลิศแต่ละสาขาวิชาให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติ ในปีพ.ศ. 2549 ได้มีการแยกตัวของ 2 ชมรมจากสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ จัดตั้ง 2 สมาคมใหม่ได้แก่ สมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) และสมาคมส่องกล้องทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ก้าวแรกเปลี่ยนจากชมรมโรคตับเป็นสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย)
             
ปฐมบทของสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย

สมาคมโรคตับจดทะเบียนครั้งแรกใช้ชื่อสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย)  เมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2549  ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554  

ดิฉัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ ได้รับเกียรติแต่งตั้ง ให้เป็นนายกสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) เป็นคนแรก (วาระปี 2549-2551)  โดยมีนายแพทย์ อนุชิต จูฑะพุทธิ เป็นอุปนายก นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ (เลขาธิการและปฏิคม) นายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ (เหรัญญิก) นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี (ประธานฝ่ายวิชาการและการศึกษาต่อเนื่อง) แพทย์หญิงอาภัสณี โสภณสฤษฏ์สุข (ประธานฝ่ายวิจัย) นายแพทย์ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ (ประธานฝ่ายวารสาร) แพทย์หญิงวัฒนา สุขีไพศาลเจริญ (ประธานฝ่ายจริยธรรม) และกรรมการ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ แพทย์หญิงวโรชา มหาชัย นายแพทย์ศตวรรษ ทองสวัสดิ์ และแพทย์หญิงศิวะพร ไชยนุวัติ 

แรกเริ่มสมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันจัดร่างวิสัยทัศน์และพันธกิจ โดยให้เป็นสมาคมวิชาชีพที่ได้รับการยอมในระดับประเทศและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยพัฒนาและส่งเสริมความรู้ ความก้าวหน้าด้านโรคตับแก่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมแพทย์อายุรศาสตร์เฉพาะทางโรคทางเดินอาหารในสาขาวิชาโรคตับ ส่งเสริมพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาโรคตับให้ได้มาตรฐานสากลส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับโรคตับ และสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่มูลนิธิโรคตับเพื่อพัฒนาเพิ่มพุนความรู้ความเข้าใจโรคตับแก่ประชาชน  ได้ร่างกฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับของสมาคม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมได้สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ สำนักงานตั้งแต่ชมรมโรคตับถึงสมาคมฯเริ่มจากการเช่าคลินิกของนายแพทย์เติมชัย ที่สยามสแควร์ จนปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อาคารชัยสงวน ถ.เพชรบุรีตัดใหม่

การเปิดตัวสมาคมโรคตับฯ ครั้งแรกในงานการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับโรคตับครั้งที่ 1 “The First Annual Hepatology Conference: Current Management of Hepatobiliary Tract Diseases” วันที่ 3-4 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมรีเจนท์ชะอำ 

 

ในปีพ.ศ. 2550 ดิฉันได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯคนที่ 18 (วาระปี 2550 -2551) อีก 1 ตำแหน่ง เป็นนายกทั้ง 2 สมาคมในเวลาเดียวกัน (สมาคมโรคตับฯ และสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ)   ในช่วงพ.ศ. 2549-2550 นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ ได้แยกก่อตั้งสมาคมใหม่เพิ่มอีก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมโรคตับ (ประเทศไทย) สมาคมส่องกล้องทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย)  

ในปีพ.ศ. 2550 สมาคมโรคตับฯ ได้จัดประชุม The 2nd Asia Pacific Association for the study of the Liver Diseaes (APASL) Autumn Single Topic Conference 2007.  The “ Innovation in Chronic Hepatitis B. Treatment”.  the 2nd Annual Meeting of the Liver Society (Thailand); The Third Perspective in Liver Diseases:  “ Update in Hepatology”,  เมื่อวันที่ 22 -24 พฤศจิกายน 2550  ณ โรงแรมดุสิตรีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี  ทั้งนี้คณะกรรมการสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯมีมติขอให้มีการจัดประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ (The Annual Meeting of the Gastroenterology Association of Thailand) ร่วมกับสมาคมโรคตับฯในครั้งนี้ โดยจัดการประชุมต่อจากการประชุม APASL ในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน   นับเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือในการจัดประชุมวิชาการร่วมกันระหว่าง 2 สมาคมเป็นครั้งแรก   และประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมทำ guidline:  “APASL Consensus on Management of chronic hepatitis B” ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายน ก่อนงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ 1 วัน นับเป็นรากฐานที่สำคัญในการจัดประชุมวิชาการร่วมกันระหว่างสมาคมและในระดับต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยมีวิทยากรทั้งในประเทศและจากต่างประเทศหลายท่านร่วมกัน และมีผู้เข้าร่วมประชุม 866 คน เป็นแพทย์จากต่างประเทศ  566 คน และสนับสนุนงานวิจัย ให้มานำเสนอผลงาน และมอบรางวัลงานวิจัยดีเด่นให้กับ young investigators ทั้งแพทย์ไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้สมาคมโรคตับฯได้มอบเงิน 30% ของรายได้จากการประชุมให้กับสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ เป็นจำนวนเงิน 2,111,064.06 บาท การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จใช้เวลาเพียงแค่ปีที่ 2 นับจากการก่อตั้งสมาคมโรคตับฯที่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์เพื่อให้สมาคมโรคตับฯเป็นเลิศทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

 

 

นอกจากนี้ได้มีการจัดงาน Faculty dinner เลี้ยงสังสรรค์ผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีการแสดงนาฏศิลป์ อาหารไทย ประเพณีงานลอยกระทง แสดงถึงวัฒนธรรมไทย บรรยากาศสนุกสนานเป็นที่ประทับใจให้กับวิทยากร ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งไทยและต่างประเทศ 

 

พ.ศ. 2551 สมาคมโรคตับฯ ได้จัดการประชุมวิชาการกลางปี “ Metabolic and Genetic Liver Diseases” วันที่ 10-12 สิงหาคม 2551 ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และได้จัดทำหนังสือคู่มือ Metabolic and Genetic Liver Diseases เพื่อประกอบเนื้อหาการประชุม โดยมีนายแพทย์ปิยวัฒน์ โกมลมิศร์ เป็นบรรณาธิการ เพื่อประสานความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และสมาชิกของสมาคม และขอบคุณบริษัทยาที่สนับสนุนการประชุมฯ จึงได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ร่วมกันตอนเย็นหลังการประชุมวิชาการ ซึ่งได้เลี้ยงอาหาร และมีการแสดงร่วมกัน บรรยากาศสนุกสนาน ประทับใจ ทำให้รู้จักกันและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกสมาคมมากขึ้น 

ในปีเดียวกัน สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ  มีนโยบายขอความร่วมมือ 4 สมาคมได้แก่ สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ สมาคมแพทย์สองกล้องฯ  สมาคมโรคตับฯ และสมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหวฯ เพื่อความร่วมมือความกลมเกลียวอันดีระหว่างสมาคมและให้นานาประเทศได้เห็นถึงศักยภาพความเป็นเลิศและความก้าวหน้าทางวิชาการของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2551 (เพื่อเตรียม BID การประชุม APDW 2012 ทั้งนี้คณะกรรมการสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารได้มีมติให้ ดิฉันเป็นประธานในการไป bid เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  APDW 2012 ที่ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2551 โดยได้รับการแนะนำช่วยเหลือจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และจากความร่วมมือ 4 สมาคมดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APDW 2012

 

มีการจัดประชุมวิชาการกลางปีของสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯโดยจัดร่วมกัน 4 สมาคมเป็นครั้งแรก ในหัวข้อเรื่องในหัวข้อ  “Sharing Practices in GI and Hepato-Pancreatic-Biliary care” การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ต้องเจอปัญหาและอุปสรรคมากมาย สืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล ความไม่สงบทางการเมืองอย่างยืดเยื้อเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้ยากลำบากในการจัดโปรแกรมการประชุมครั้งนี้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนหัวข้อและวิทยากรเนื่องจากมีความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมือง  การประชุมได้เลื่อนจากกำหนดการเดิมเป็นวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2551  ณ ห้องประชุมวิชัยยุทธ อาคารศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ โดยมีพันโทนายแพทย์ สมพนธ์ บุณยคุปต์ ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานประชุมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “คุณหมอจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะไม่ถูกฟ้อง” และก่อนวันประชุมเกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากมีเหตุการณ์ชุมนุมและบุกยึดสนามบิน (24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551) ทำให้วิทยากรที่ได้เชิญทั้งจากต่างประเทศและต่างจังหวัดรวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่าน ไม่สามารถเดินทางมาร่วมประชุมได้ (ถ้าเป็นยุค new normal นี้ การแก้ปัญหาคงทำได้ง่ายกว่ามากโดยปรับเปลี่ยนเป็น virtual meeting แทน)  

 

วันที่ 2-5 ธันวาคม 2551 ได้มีการจัดประชุมวิชาการร่วมกัน 4 สมาคมเป็นครั้งที่ 2  ในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก  โดยดิฉันในฐานะเป็นนายกสมาคมโรคระบบทางเดินอาหารรับหน้าที่เป็นประธานในงานในการจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ Thai DDW และนับว่าเป็นการจัดการประชุมวิชาการครั้งแรกที่เป็นความร่วมมือกันทั้ง 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมโรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์สองกล้องทางเดินอาหาร (ไทย) สมาคมโรคตับ(ไทย)  และสมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย) ซึ่งได้จัดประชุมวิชาการ วันที่ ที่จังหวัดเชียงใหม่

           สมาคมโรคตับฯได้ริเริ่มให้จัดทำหนังสือวารสารสมาคมโรคตับ โดยมอบหมายให้ นพ.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ เป็นบรรณาธิการ

 

นอกจากนี้สมาคมโรคตับฯยังสนับสนุนให้ทุนวิจัย และได้สนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างสมาชิกและสมาคมสาขาวิชาชีพ และสนับสนุนให้สามารถนำเสนอและตีพิมพ์ผลงานวิจัยได้ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้สมาคมโรคตับฯยังมีนโยบายเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคตับให้แก่ประชาชน มีการบรรยายความรู้ หรือเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ได้ดำเนินการจัดทำหนังสือและแผ่นพับเกี่ยวกับโรคตับสำหรับประชาชน หรือเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ

ปัจฉิมบท… 3 ปีแรกของสมาคมโรคตับฯ จากก้าวแรกสู่ก้าวต่อไป

จากชมรมโรคตับเปรียบเสมือนการวางรากฐานของการดูแลโรคตับ ของประเทศไทย การก้าวสู่สมาคมโรคตับ(ประเทศไทย) ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นจัดงานประชุมวิชาการทั้งในระดับต่างประเทศและ APASL งานวิจัย กิจกรรมทางสังคม ทำให้เกิดความมันคงเป็นปึกแผ่นมากขึ้นก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการการยอมรับในระดับประเทศและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ดังวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคม ขอขอบคุณศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ  ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวัน  คณะกรรมบริหารสมาคม สมาชิกสมาคมและอีกหลายท่าน ที่ไม่ได้เอ่ยนาม ณ ที่นี้ 

ปัจจุบันสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยนับว่าสมาคมเรามีการเติบโตมาก มีคณะกรรมการและสมาชิกมากขึ้น ทั้งคุณภาพศักยภาพและความสามัคคีร่วมกันได้พัฒนาต่อยอดพันธกิจของสมาคมอย่างต่อเนื่องตามลำดับในหลายมิติไม่ว่าทางวิชาการ งานวิจัย สื่อโซเชียลต่างๆ นำมาซึ่งองค์ความรู้โรคตับในการดูและรักษาผู้ป่วยโรคตับและส่วนร่วมในนโยบายระดับประเทศร่วมกับสมาคมวิชาชีพอื่น สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข การทำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคตับระดับประเทศและอาเซียนและการเตรียมทำหลักสูตรต่อยอดผู้เชี่ยวชาญโรคตับของประเทศ ทั้งนี้ผลงานและชื่อเสียงของสมาคมฯที่ร่วมกันทำมาจากอดีตสู่รุ่นต่อมาได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้สมาคมฯเป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
ท้ายสุดนี้ดิฉันขอส่งความปรารถนาดีและกำลังใจให้กับนายกสมาคม คณะกรรมการบริหารสมาคมฯในรุ่นต่อๆไป อาจารย์ และสมาชิกทุกท่าน ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จในทุกย่างก้าวต่อไป

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง ชุติมา ประมูลสินทรัพย์
31 ตุลาคม 2564

 

 

Share This: