ผศ.พญ.ธนิตา สุทธิชัยมงคล
สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุท่อทางเดินน้ำดี แบ่งชนิดตามตำแหน่งของรอยโรค ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ (intrahepatic cholangiocarcinoma) มักพบเป็นก้อนภายในตับ และมะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ (extrahepatic cholangiocarcinoma) โดยอาจเป็นบริเวณขั้วตับหรือส่วนปลายของท่อน้ำดี1 มะเร็งชนิดนี้พบมากที่สุดที่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายงานอุบัติการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2536 จังหวัดขอนแก่นพบมากถึง 84.6 และ 36.8 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปีในเพศชายและเพศหญิงตามลำดับ2 ในปี พ.ศ. 2560 พบอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ 14.6 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี3 ถึงแม้ว่าแนวโน้มจะพบน้อยลง แต่ยังเป็นมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง
จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเป็นมากแล้ว เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด อาการจากการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี ได้แก่อาการเหลือง คันตามตัว ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด หรือมาด้วยภาวะติดเชื้อในท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งเมื่อมีอาการข้างต้นมักจะพบว่ากลายเป็นระยะลุกลามแล้ว4 ทำให้โอกาสการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคลดลง
สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini) ที่มาจากวัฒนธรรมการกินปลาน้ำจืดดิบของประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยมีรายงานว่าพยาธิใบไม้ในตับเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 6-7 เท่าต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากนี้ยังพบว่าอายุมาก (6 เท่า) การรับประทานปลาดิบ (3 เท่า) ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง (2 เท่า) การดื่มเหล้า (3 เท่า) และการรับประทานยาฆ่าพยาธิ praziquantel (2 เท่า) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งท่อน้ำดีเช่นเดียวกัน5 ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ นิ่วที่ตับ (hepatolithiasis), โรค primary sclerosing cholangitis,
โรคไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, โรค Caroli’s disease เป็นต้น1
การรักษาที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดที่ทำให้มีโอกาสหายขาดคือการผ่าตัด แต่พบว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยเท่านั้นที่สามารถผ่าตัดได้สำเร็จ การรักษาในคนไข้กลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่นกรณีมีการอุดตันของท่อน้ำดีทำให้เกิดดีซ่านและคันตามตัว ให้รักษาด้วยการใส่ขดลวดโลหะ (stent) เพื่อระบายน้ำดีโดยทางส่องกล้องน้ำดี หรือใส่ท่อระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ท่อน้ำดีที่ตับ นอกจากนี้ยังมีการให้ยาเคมีบำบัด แต่ผลการรักษาในกลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้เป็นเพียงการประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานขึ้นเท่านั้น ไม่ได้หายขาดจากโรค
การพยากรณ์โรค โดยทั่วไปผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีเฉลี่ยร้อยละ 8 ทั้งนี้ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะแรก มีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีเฉลี่ยร้อยละ 24 แต่ถ้าพบครั้งแรกในระยะแพร่กระจายจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีเพียงร้อยละ 2
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่ดีที่สุดคือการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ซึ่งก็จะทำให้ไม่ต้องไปรับประทานยาฆ่าพยาธิ ไม่ดื่มเหล้า รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อโรคข้างตัน ควรไปติดตามการรักษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค หากพบในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการ จะมีโอกาสรักษาได้หายขาดสูงขึ้น
ขอขอบคุณรูปภาพจาก ผศ.นพ.อรรถพล ติตะปัญ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เอกสารอ้างอิง
- Plentz RR, Malek NP. Clinical presentation, risk factors and staging systems of cholangiocarcinoma. Best Pract Res Clin Gastroenterol 2015;29:245–52.
- Parkin DM, Ohshima H, Srivatanakul P, Vatanasapt V. Cholangiocarcinoma: Epidemiology, Mechanisms of Carcinogenesis and Prevention. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev 1993;2:537–44.
- Treeprasertsuk S, Poovorawan K, Soonthornworasiri N, Chaiteerakij R, Thanapirom K, Mairiang P, et al. A significant cancer burden and high mortality of intrahepatic cholangiocarcinoma in Thailand: A nationwide database study. BMC Gastroenterol 2017;17:1–7.
- Altaee MY, Johnson PJ, Farrant JM, Williams R. Etiologic and clinical characteristics of peripheral and hilar cholangiocarcinoma. Cancer 1991;68:2051–5.
- Kamsa-Ard S, Kamsa-Ard S, Luvira V, Suwanrungruang K, Vatanasapt P, Wiangnon S. Risk factors for cholangiocarcinoma in Thailand: A systematic review and meta-analysis. Asian Pacific J Cancer Prev 2018;19:605–14.
- https://www.cancer.net/cancer-types/bile-duct-cancer-cholangiocarcinoma/statistics
Tags: Hepatobiliary malignancy